
บ้านปง : พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านทิศใต้ของผืนป่าสุเทพ-ปุย
________________________________________________________________
ตำบลบ้านปงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งของป่าดอยสุเทพ-ปุย ทางด้านทิศใต้ เนื่องจากระบบนิเวศน์ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ
ทิ้งใบในฤดูแล้ง แต่ละปีจึงมีชีวมวลที่เป็นใบไม้กิ่งไม้แห้งร่วงหล่นเป็นเชื้อเพลิงสะสมจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ป่ามีการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคนหลายกลุ่ม ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องแรงงานจากพื้นที่รอบนอกและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานรับจ้างในตัวเมืองเชียงใหม่และในพื้นที่ ที่เข้าเก็บหาผลผลิตจากป่าเต็งรัง,เบญจพรรณทั้งเพื่อกินและเพื่อขาย ขณะที่การบริหารเชื้อเพลิงบางส่วนด้วยการใช้ไฟในพื้นที่เสี่ยงที่ผ่านมาก็ยังทำไม่ได้เนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ หน่วยงานและคนในเมืองยังไม่เข้าใจและยอมรับ
.
ด้วยหลายปัจจัยดังที่กล่าวมา ทำให้เขตบ้านปงเกิดไฟแอบจุด ไฟที่ไม่มีการควบคุมขึ้นได้ง่าย และเมื่อเกิดแล้วก็มีโอกาสลุกลามเข้าสู่เขตบ้านดอยปุย ซึ่งเป็นป่าดิบแล้ง ดิบชื้น และสนเขา ซึ่งเป็นนิเวศน์ป่าที่อ่อนไหวไม่ควรมีไฟเกิดขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการแบบ “เอาให้อยู่”ในโซนป่าผลัดใบบ้านปงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเราไม่ต้องการให้เกิดไฟไหม้ในเขตตั้งแต่กลางดอยไปจนถึงยอดของดอยสุเทพด้านทิศใต้
.
พื้นที่ป่าของบ้านปง ด้านทิศตะวันออกเป็นป่าอนุรักษ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2,609 ไร่ คาบเกี่ยวระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และอุทยานแห่งชาติออบขาน ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ท่าช้าง-แม่ขนิน พื้นที่ประมาณ 1,809 ไร่
.
กลไกหลักที่ดูแลจัดการปัญหาไฟป่าในพื้นที่ มีสองกลไกสำคัญคือ ท้องถิ่นและท้องที่(กำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน,คณะกรรมการหมู่บ้าน) โดยมีการดูแลจัดการร่วมกันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนคือ จัดตั้งจุดเฝ้าระวังไฟป่าของตำบล 2 จุด จุดที่1 ที่เทศบาลตำบลบ้านปง จุดที่2 คือบ้านเก๊าเดื่อ โดย 2 จุดนี้มีหน้าที่รับแจ้งเหตุและมีชุดปฏิบัติการ 2 ชุด คือ ชุดของฝ่ายปกครองท้องที่ และชุดของทางเทศบาล ปฏิบัติการหลักๆคือเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบระงับเหตุที่ชาวบ้านแจ้งมารวมทั้งการประสานกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ทางเทศบาลได้มีการจัดตั้งชุดเสือไฟ/ชุดป้องกันไฟป่า จำนวน 50 คน/หมู่บ้าน เพื่อประจำจุดต่างๆ โดยแต่ละหมู่บ้านก็จะมีจุดสกัดของตนเองที่ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านและจิตอาสาในชุมชน โดยผู้ใหญ่บ้านจะเป็นคนบริหารจัดการ
.
ก่อนที่จะมีการตั้งจุดสกัด ทุกหมู่บ้านในตำบลบ้านปงได้มีการทยอยทำแนวกันไฟตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จนถึงประมาณต้นเดือนมีนาคมของทุกปี เมื่อแนวกันไฟแล้วเสร็จก็จะเป็นช่วงเฝ้าระวัง ลาดตระเวน-ดับไฟยาวไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังมีการปลูกป่าเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการหมู่บ้านและสมาชิกในแต่ละหมู่บ้าน ตามงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละปี เช่นจากเทศบาลตำบลบ้านปง ,สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์,ภาคเอกชนทั้งในและนอกพื้นที่
.
นอกจากท้องถิ่นและท้องที่แล้ว บ้านปงยังมีต้นทุนสำคัญของกลุ่มเครือข่ายที่ร่วมดูแลจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าที่ถือเป็นอีกพลังหนึ่งที่สำคัญในพื้นที่คือ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวและมีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆในการดูแลจัดการไฟป่าและทรัพยากรในพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ในระยะของการฟื้นฟูเครือข่าย มีการประสานเชื่อมโยงกันกับกลุ่มทสม.ตำบลแม่เหียะ ,ทสม.ตำบลสุเทพ รวมทั้งเครือข่ายทสม.อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่
_____________________________________________________________________
"นวัตกรรมการฟื้นฟูป่าแบบมีส่วนร่วม"
หลังไฟไหม้ครั้งใหญ่ดอยสุเทพปุยในปี2563 สภาลมหายใจเชียงใหม่มองเห็นว่าพื้นที่บ้านปงเป็นพื้นที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญ หากสามารถจัดการได้ดี โอกาสที่จะลุกลามขึ้นสู่เขตป่าสนเขาที่มีน้ำมันกลายเป็นไฟใหญ่ก็ลดลงด้วย จึงได้ขยายการทำงานจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งมาสู่พื้นที่บ้านปง โดยใช้แนวทาง “การฟื้นฟูป่า”เป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายพื้นที่
.
จากจุดเริ่มต้นเรื่องการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกันชน เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน เมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูป่ากับหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) คณะวิทยาศาสตร์ มาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกิดการยกระดับความคิดสู่การเติมไม้ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ทั้งผักและผลไม้ป่า และมีระบบดูแล-ติดตามหลังปลูกโดยชุมชนอย่างต่อเนื่อง จากการติดตามรุ่นแรกที่ปลูกในปี 2565 ใน 3 ชุมชนคือ บ้านปางยาง บ้านปงเหนือ บ้านห้วยเสี้ยว ต.บ้านปง อ.หางดง พบว่าต้นไม้ที่ปลูกทั้งหมด 1,600 ต้น รอด 1,412 ต้น คิดเป็น 88%
.
การฟื้นฟูป่าไม่ใช่เรื่องของการปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่คือการทำความเข้าใจระบบนิเวศน์ของพื้นที่ ดิน-น้ำ-ป่า-พันธุ์ไม้-วิถีการกิน และอาหารจากแหล่งธรรมชาติของคนในพื้นที่ รวมทั้งระบบดูแลหลังปลูก สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงและมีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลว ที่บ้านปงนั้น เลือกพรรณไม้ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ คือไม้ป่าที่คนและสัตว์กินได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น มะขามป้อม,ชงโค(เสี้ยวม่วง,เสี้ยวขาว),หว้า,มะเกว๋น(ตะขบป่า),สมอพิเพก,ผักหวานป่า,ผักเฮือด,เพกา,ชะมวง,พริกไทย ฯลฯ
.
นวัตกรรมการฟื้นฟูป่าแบบมีส่วนร่วม เป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลปกป้องไม่ให้มีไฟไหม้โดยไม่มีการควบคุม และเป็นโอกาสให้ชุมชนและหลายภาคส่วนได้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นทุนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับคนในเมือง รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนในระยะต่อไปได้ในอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเพาะเมล็ดแจกจ่าย การเรียนรู้เรื่องการวัดคาร์บอน เนื่องจากต้นไม้ที่อยู่ระหว่างการเติบโตจะมีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซค์ได้ดีกว่าต้นไม้ที่โตคงที่แล้ว ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อขยายเป็นเครือข่ายปกป้องดอยสุเทพร่วมกันในระยะต่อไป
#เพราะเรามีลมหายใจเดียวกัน
#สภาลมหายใจเชียงใหม่
21 สิหาคม 2566