
ข้อเสนอ
มะเร็งปอด
สภาลมหายใจเรียกร้องให้รัฐบาล โดยให้นายกจัดสรรงบกลาง
เพื่อใช้คัดกรองมะเร็งปลอดโดยมันที

สภาลมหายใจเชียงใหม่
เสนอรัฐจัดสรรงบเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ฝุ่นควัน ค่า pm 2.5 เกินเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโรคม ะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ของโรคมะเร็งทั้งหมด โดยจากสถิติในปี 2564 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่จำนวน 23,713 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด

นอกจากนี้พบว่า โรคมะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอันดับที่ 2 (เป็นอันดับ 2 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 เพศผู้หญิง) โดยจากสถิติอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2555-2564 พบว่าแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยในภาคเหนือมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 24.31 รายต่อแสนประชากรในปี 2555 เป็น 31.34 รายต่อแสนประชากรในปี 2564 ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 20.95 รายต่อแสนประชากรในปี 2555 เป็น 25.12 รายต่อแสนประชากรในปี 2564

ผลกระทบ
จากสถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้น พบว่ามีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
1) ประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งปอดมีจำนวนเพิ่มขึ้น
1.1 ผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งหลายชนิดเช่น Nitrosamines Benzo(a)pyrene และ Diol epoxide เป็นต้น โดยความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบ นอกจากนี้ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่หรือได้รับควันจากการสูบบุหรี่ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดเช่นกัน[1]
1.2 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับสารเคมีอันก่อให้เกิดโรคมะเร็งเป็นระยะเวลานาน เช่น ก๊าซเรดอนสารหนู ควันดีเซล ควันจากรถยนต์ ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
1.3 ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งจากการเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การเผาไหม้ในป่า ควันและไอเสียรถยนต์ดีเซล ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานมาเป็นระยะเวลานาน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับสัมผัสในปริมาณสูงเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอด
2) ขาดการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประชาชนสามารถใช้สิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งปอดภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากพบว่ามีอาการไอเรื้อรังติดต่อกัน ไอมีเลือดหรือเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด หรือมีภาวะปอดติดเชื้อ สามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ รวมทั้งสถานพยาบาลเฉพาะด้านมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่ง แต่อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักจะเข้าสู่ระยะแพร่กระจายแล้ว เนื่องจากขาดการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด
จากรายงานวิจัยการประเมินข้อบ่งชี้ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า การตรวจด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) สามารถตรวจวินิจฉัย ช่วยกำหนดและวางแผนการรักษาโรคมะเร็งปอดได้ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแนวทางการรักษาผู้ป่วยหรือหลีกเลี่ยงการรักษาบางอย่างที่ไม่จำเป็นได้ นอกจากนี้รายงานวิจัยดังกล่าวยังเสนอให้ภาครัฐมีการเพิ่มข้อบ่งชี้ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) ที่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งหากมีการขยายสิทธิในการตรวจวินิจฉัยด้วยเพทซีทีจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน จะช่วยทำให้ต้นทุนของการตรวจต่ำลง และสามารถปรับลดราคาค่าบริการได้[2]
นอกจากนี้ จากการศึกษาการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีขนาดตํ่า (Low-Dose CT Scan) สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยังพบว่าการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากบางครั้งจุดในปอดอาจเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยการเอกซเรย์ในรูปแบบปกติ และช่วยในการติดตามและการดำเนินไปของรอยโรค ทำให้ทราบชนิดของรอยโรคและวิธีการรักษา ซึ่งจะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะกระจายไปทั่วร่างกาย[3] ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดด้วยวิธีข้างต้นมีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้มีความเสี่ยงสูงและผู้ป่วยไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้และทำให้เข้าถึงการรักษาได้ยาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเข้ารับการรักษาเมื่ออาการของโรคเข้าสู่ระยะแพร่กระจาย
เนื่องจากสถานการณ์เร่งด่วนในปัจจุบันที่ประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือ กทม.และภาคอีสานมีปัญหามลพิษอากาศจากการเผาไหม้ในที่โล่งขนาดใหญ่และมีวิกฤติในช่วงหน้าแล้งทุกปีการบรรจุสิทธิประโยชน์
ด้านการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญซึ่งช่วยให้ประชาชนกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงทั้งในกลุ่มผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับสารเคมีอันก่อให้เกิดโรคมะเร็งและกลุ่มผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในเข้ารับการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอด
สภาลมหายใจเชียงใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจัดสรรงบกลางเพื่อใช้คัดกรองมะเร็งปอดโดยทันที มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการโดยเร่งด่วน ในการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงสูง กลุ่มเป้าหมายที่ควรเข้ารับการตรวจ และขอให้กระทรวงสาธารณะสุขเร่งรัดการสื่อสารให้ข้อมูลเรื่องมะเร็งปอดอย่างรอบด้านและเหมาะสมให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางทันที
เนื่องในในวาระที่นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน มาติดตามการแก้ปัญหามลพิษอากาศ pm 2.5 ที่เชียงใหม่
วันที่ 15 มีนาคม 2567
สภาลมหายใจเชียงใหม่
อ้างอิง
[1]สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ, https://www.hiso.or.th/thaihealthstat/topic/index.php?t=02&m=01
[2]https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=552
[2] โครงการวิจัยเรื่อง“การประเมินข้อบ่งชี้ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที” ดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)
[3] การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีขนาดตํ่า ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล