

ปริศนา พรหมมา ตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่อธิบายว่า วิกฤตมลพิษทางอากาศในจังหวัดมีที่มาจากหลายส่วน โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า 40% ของมลพิษมาจากหมอกควันข้ามแดนและข้ามจังหวัด ส่วนอีก 60% เกิดจากแหล่งกำเนิดภายในจังหวัด แบ่งเป็นการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ 10% และจากการเผาในที่โล่งทั้งภาคเกษตรและพื้นที่ป่าอีก 50%
"ปัญหานี้เด่นชัดตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งต รงกับช่วงจัดงานพืชสวนโลก และตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการใช้นโยบาย Zero Burning หรือห้ามเผาโดยเด็ดขาด แต่สถานการณ์กลับมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น" ปริศนากล่าว
นโยบายห้ามเผาโดยเด็ดขาดไม่ได้คำนึงถึงบริบทพื้นที่ที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในเชียงใหม่ซึ่งมีชุมชนจำนวนมากอาศัยในเขตป่า มีการพึ่งพาเศรษฐกิจจากป่า และมีปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ระหว่างชุมชนกับรัฐที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ
การห้ามเผาเด็ดขาด เป็นการสะสมเชื้อเพลิง ประกอบกับอากาศที่แห้งแล้ง แนวทางดังกล่าวทำให้เกิดการลักลอบเผาในที่ลับตา เช่น การเผาในเวลากลางคืนเพื่ อหลบดาวเทียม ส่งผลให้การควบคุมไฟทำได้ยากขึ้น และยังเป็นการเผาในช่วงเวลาที่สภาพอากาศปิด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ไฟป่าที่ดอยสุเทพ-ปุยในปี 2563 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากไฟป่าทั้งจังหวัดถึง 7 ราย สะท้อนว่าการห้ามเผาเด็ดขาดไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
จากบทเรียนข้างต้น เชียงใหม่จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในปี 2564 จาก "Zero Burning" สู่ "Fire Management" โดยยอมรับความจำเป็นของไฟในบางบริบทและพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน " Fire D" เพื่อควบคุมการใช้ไฟให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด
ระบบดังกล่าวใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลตรวจวัดดัชนีทางอุตุนิยมวิทยา การระบายอากาศล่วงหน้า 10 วัน และข้อมูลแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 7-10 วัน รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ อีกกว่า 10 ชั้น เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอนุมัติอนุญาตสำหรับการเผาที่จำเป็น
แม้ปี 2567 จะเป็นปีแล้ง แต่ภายใต้มาตรการนี้ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เผาไหม้อยู่ในลำดับที่ 4 จาก 9 จังหวัดภาคเหนือ คิดเป็นเพียง 10% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และเมื่อเทียบกับ 4 จังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในภาคเหนือ (แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก และเชียงใหม่) เชียงใหม่มีพื้นที่เผาไหม้น้อยที่สุด จำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 118 วันในปี 2566 เหลือประมาณ 80 วัน และค่าความเข้มข้นสูงสุดลดลงจาก 300 กว่าไมโครกรัมเหลือ 200 กว่าไมโครกรัมในปี 2567
ที่สำคัญ แนวทางนี้ยังส่งผลดีในเชิงความร่วมมือระหว่างภาคส่วน เชียงใหม่กลายเป็นโมเดลของการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยมีการจัดพื้นที่มุ่งเป้าร่วมกันเป็น 8 กลุ่มป่า และสนับสนุนให้จัดทำแผนบริหารจัดการไฟเชิงพื้นที่ร่วมกันระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานป่าไม้ ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานป่าไม้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้านี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากคำสั่งของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในเดือนมกราคม 2568 ที่กลับไปสู่แนวทาง "ห้ามเผาโดยเด็ดขาด" ซึ่งขัดแย้งกับประกาศจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่แบ่งเป็นเขตควบคุมการเผาและเขตบริหารจัดการเชื้อเพลิง
สภาลมหายใจเชียงใหม่จึงได้มีข้อเสนอนโยบายและมาตรการเพื่อลดไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5จังหวัดเชียงใหม่
ระยะเฉพาะหน้า
ประสานให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กระทรวงมหาดไทย ออกข้อสั่งการให้แต่ละจังหวัด ดำเนินการตามแนวทางประกาศจังหวัดที่มีอยู่ รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยเชียงใหม่ยึดตามแนวทางการบริหารจัดการไฟ(Fire Management) แยกแยะไฟจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการ และเขตควบคุมการเผาตามประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชน ,อปท.,เจ้าหน้าที่ป่าไม้,ปกครองอำเภอเกิดความสับสน และสามารถรับมือกับไฟป่า หมอกควันในเดือนมีนาคม-เมษายนปี2568 ได้อย่างเป็นเอกภาพ
ระยะยาวหลังปี 2568
ให้วุฒิสภาผลักดันการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหา โดยลำดับความสำคัญการจัดสรรในแต่ละส่วน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ แทนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะงบประมาณตามบทบาทภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากกรมป่าไม้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณอุดหนุนชุดดับไฟป่าหมู่บ้าน และพัฒนาขีดความสามารถ เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น ทันสมัย สามารถเข้าควบคุมไฟลักลอบจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประสานเร่งรัดให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบที่เป็นบริการสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่ โดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ.และเทศบาลนคร)
ให้วุฒิสภาเร่งรัดกระบวนการออกกฎหมายพรบ.บริหารจัดการอากาศสะอาด ที่ยืนอยู่บนหลักการสำคัญคือ สิทธิของประชาชนผู้หายใจ สิทธิชุมชนในเขตป่าที่ยังต้องพึ่งพาไฟพึ่งพาป่า กลไกคณะกรรมการอากาศสะอาดที่มีส่วนร่วมของประชาชนประชาสังคม และ กองทุนอากาศสะอาด
ให้วุฒิสภาเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดัน นำข้อมูลไปอภิปรายในสภา ในประเด็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(30บาทรักษาทุกที่) ระบบประกันสังคมและข้าราชการ ให้มีการคัดกรองมะเร็งปอดด้วยวิธีซีทีสแกน แบบโลว์โดส (Low dose CT scan) ทั้งนี้มีผลการศึกษาวิจัยการคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าวของกระทรวงสาธารณะสุขแล้ว การคัดกรองได้เร็วส่งผลให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วลดอัตราการตายได้ คนเหนือและทุกคนในแผ่นดินไทยควรได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จะมีสุขภาพดีปลอดภัยจากมลพิษอากาศ

ด้านสว.ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สว.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จะนำปัญหาของประชาชนไปนำเสนอต่อรัฐสภา โดยบทบาท สว.สามารถผลักดันได้หลายเรื่อง ทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะสามารถนำเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนไปตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาได้