
" เชียงใหม่พร้อม รัฐบาล พร้อมไหม ?? "
ประชาธิปไตยกินได้ กระจายอำนาจ ท้องถิ่นปกครองตรเอง
ร่วมระดมรายชื่อเสนอกฎหมาย
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการจังหวัดเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ….
-
ท้องถิ่นขนาดใหญ่คือ จังหวัด ขนาดรองคือ เทศบาล /อบต.
-
รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้จังหวัดที่พร้อมปกครองตนเองตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๙
-
จังหวัดเชียงใหม่พร้อมเป็น เชียงใหม่มหานคร เฉกเช่น กรุงเทพมหานคร
-
การเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.... เป็นรูปธรรมที่ เชียงใหม่พร้อม
-
ประชาชนพร้อมลงรายชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. เราพร้อมแล้ว ที่จะจัดการปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ออกแบบระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการ ของเราได้เอง เราพร้อมจ่ายภาษีและนำภาษีมาบริหารจังหวัดของเรา เราพร้อมเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มหานคร ด้วยเช่นกัน
ถาม : เหตุใดจึงต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง
ตอบ : เพื่อลดการรวมศูนย์อำนาจและแบ่งเบาภาระจากรัฐส่วนกลาง ซึ่งเป็นการกระจายอานาจให้ท้องถิ่นมีอิสระ พึ่งตนเองได้และตัดสินใจในการกำหนดเจตจำนงของตนเองได้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง โดยมีสิทธิความชอบธรรมตามกฎหมายและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากรัฐส่วนกลางเท่าที่จำเป็นตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนภายในท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินกิจการต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีในลักษณะที่ท้องถิ่นปกครองตนเอง กล่าวคือ “เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ของท้องถิ่นตนเองอย่างแท้จริง เมื่อท้องถิ่นมีความเข้มแข็งก็จะถือเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระดับชาติ ทำให้ท้องถิ่นได้ระเบิดศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่หลังจากที่กดทับมานานภายใต้ราชการส่วนภูมิภาค
ถาม : การให้จังหวัดปกครองตนเองจะถือเป็นการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ อย่างไร
ตอบ : การให้จังหวัดปกครองตนเองไม่ทำให้เป็นการแบ่งแยกดินแดน เพราะจังหวัดปกครองตนเองถือเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาจังหวัดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด (ตัวอย่างเช่นกรุงเทพมหานครก็เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด)
ถาม : คนเชียงใหม่เสนอกฎหมายเชียงใหม่มหานครได้หรือไม่
ตอบ 1 : ได้เพราะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๙ กำหนดให้มีการจัดการปกครองท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งรัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
ตอบ 2 : ได้เพราะประธานรัฐสภา อนุมัติให้ทำการระดมรายชื่อเสนอ ร่าง กฎหมายฯ ดังกล่าวได้แล้วตามที่ทางเครือข่ายได้ส่งร่างกฎหมายให้ประธานพิจารณาแล้ว
ถาม : หากกฎหมายได้รับการเห็นชอบ ผ่านการรับรองจากรัฐสภาแล้ว เชียงใหม่จะมีฐานะเป็นอย่างไร
ตอบ : มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับจังหวัด
ถาม : เชียงใหม่มหานครจะมีลักษณะการปกครองแบบใด
ตอบ : มี 2 ระดับคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบนคือ เชียงใหม่มหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างคือ เทศบาล และ อบต.
ถาม : อำนาจหน้าที่ของ เชียงใหม่มหานคร
ตอบ : จัดบริการสาธารณะเฉพาะส่วนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งจังหวัดและเป็นบริการขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและการลงทุน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างไม่สามารถดำเนินการได้เอง
ถาม : อำนาจหน้าที่ของ เทศบาล อบต. ภายใต้เชียงใหม่มหานคร
ตอบ : จัดบริการสาธารณะในส่วนพื้นที่รับผิดชอบ และเป็นบริการตามภารกิจประจำวันของประชาชนและตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่
ถาม : กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ในส่วนไหนของเชียงใหม่มหานคร
ตอบ : กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นตรงต่อ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
ถาม : การบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร มีอย่างไร
ตอบ : ประกอบด้วย สภาเชียงใหม่มหานคร และ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร ทั้งสองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเชียงใหม่
ถาม : สภาเชียงใหม่มหานคร มีหน้าที่คือ
ตอบ : กำกับติดตามการบริหารงานของผู้ว่าราชการ การออกข้อบัญญัติการบริหาร บริการสาธารณะ การพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณ เป็นต้น
ถาม : บทบาทอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
ตอบ : (๑) กำหนดนโยบายและการบริหารราชการของเชียงใหม่มหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย
(๒) สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของเชียงใหม่มหานคร
(๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร เลขานุการ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ มหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
(๔) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
(๕) วางระเบียบเพื่อให้งานของเชียงใหม่มหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย
(๖) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติเชียงใหม่มหานคร
(๗) ยุบสภาเชียงใหม่มหานครในกรณีที่ข้อบัญญัติงบประมาณประจำปีไม่ผ่านการพิจารณาของสภาเชียงใหม่มหานคร
(๘) ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในการพัฒนาเชียงใหม่มหานครหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
(๙) เข้าร่วมประชุมสภาพลเมืองเพื่อรับฟังหรือชี้แจงข้อมูลต่อสภาพลเมืองเมื่อได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากสภาพลเมือง
(๑๐) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น
ถาม : การมีส่วนร่วมของประชาชน
ตอบ : มีการจัดตั้งสภาพลเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยคนมีฐานะเท่าเทียมกับผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร และสภาเชียงใหม่มหานครโดยมีที่มาจาก ผู้แทน เทศบาล อบต. กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรวิชาชีพ มาขึ้นทะเบียนแล้วเลือกกันเอง
ถาม : หน้าที่ของ สภาพลเมือง คืออะไร
ตอบ : หลักๆคือ เสนอแนะทิศทางนโยบาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเชียงใหม่มหานคร ตรวจสอบการบริหารงาน การจัดเวทีประชาพิจารณ์ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา จัดเวทีปรึกษาหารือระหว่างประชาชนด้วยกัน จัดให้มีการไต่สวนสาธารณะ กรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น เป็นต้น
ถาม : ข้าราชการส่วนกลาง อยู่ที่ไหน
ตอบ : คงเหลือแต่หน่วยราชการส่วนกลางที่เชียงใหม่ไม่ได้บริหารคือ ๑) เรื่องการทหาร ๒) เรื่องการคลังรัฐ ระบบเงินตรา ๓) เรื่องการศาลและ ๔) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ถาม : ข้าราชการส่วนภูมิภาค อยู่ที่ไหน
ตอบ : ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาคอีกต่อไป กรณีข้าราชการเดิมหากต้องการย้ายมาเป็นข้าราชการเชียงใหม่มหานครก็ย้ายมา หากไม่ประสงค์ย้ายมาก็กลับไปอยู่ในกระทรวง
ถาม : อบจ.และข้าราชการ อบจ. ยังอยู่ไหม
ตอบ : ไม่มีอบจ.และข้าราชการ อบจ. อีกต่อไป เพราะจะมีเลือกตั้งผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครซึ่งควบรวมราชการภูมิภาคเดิมเข้ากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีวาระ 4 ปี ส่วนข้าราชการ อบจ.ก็โอนไปสังกัด เชียงใหม่มหานครเลย

#เชียงใหม่มหานคร
#กระจายอำนาจ
#จังหวัดจัดการตนเอง